Saturday, 4 May 2024
อนุดี เซียสกุล

พระราชทรัพย์กษัตริย์แห่งอังกฤษมาจากไหน? จำนวนเท่าไร? ใช้ไปกับอะไร? เสียภาษีหรือไม่?

เมื่อหลายสิบปีมาแล้วมีรายงานข่าวว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ ทรงเป็นผู้ที่ร่ำรวยมากที่สุดพระองค์หนึ่งของโลก ด้วยทรงมีพระราชทรัพย์อันเป็นที่ดิน, พระราชวัง, ภาพวาดหายาก, เครื่องเพชรและยังรวมถึงฟคอกม้าอีกด้วย ซึ่งถ้าจะตีความแบบเหมารวมเช่นนั้นสมเด็จพระราชินีก็อาจจะทรงร่ำรวยจริง

แต่ต่อมาก็มีการอธิบายขยายความว่า ที่จริงแล้วต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนในพระราชทรัพย์ที่ทรงมีอยู่ เพราะว่าบางอย่างไม่ใช่ของท่าน แต่เป็นของแผ่นดินอังกฤษที่ตกทอดกันมาตามสายของพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงครองราชย์สมบัติ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงมีอยู่หรือได้มาโดยจะทรงซื้อขายได้ตามพระประสงค์

เรื่องความร่ำรวยของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของประเทศต่าง ๆ มักจะเป็นข่าวที่คนชอบอ่านเพราะคนใคร่รู้ว่าท่านมีเงินมากน้อยแค่ไหนและได้มาจากไหนบ้าง บางคนอ่านแล้วก็พลอยยินดีปรีดากับทรัพย์ศฤงคารที่มากมายเหล่านั้นและอาจจะเคลิ้มว่าน่าจะเป็นของตนบ้างในชีวิตชาติหน้า

เร็วๆ นี้ผู้เขียนได้อ่านข่าวชิ้นหนึ่งของบีบีซีภาษาอังกฤษชื่อข่าวว่า Royal finance: Where does the king get his money? เขียนโดย Tom Edgington and Jennifer Clarke ผู้เขียนทั้งสองเริ่มด้วยข่าวที่รัฐบาลอังกฤษจะถวายเงินอุดหนุนประจำปีที่เรียกว่า Sovereign Grant หรือเดิมเรียกว่า Civil List เท่ากับปีงบประมาณ ค.ศ. 2021-2022 คือจำนวน 86.3 ล้านปอนด์ (คูณด้วย 44 บาทก็ตกราว 3,800 ล้านบาท)

ข่าวชิ้นนี้ทำให้รู้เกี่ยวกับพระฐานะการเงินของราชวงศ์อังกฤษ ว่ามีอะไรบ้าง และจำนวนเท่าใด เมื่อรู้แล้ว ก็ทำให้รู้ว่าท่านร่ำรวยอยู่ไม่น้อย 

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย ๆ ผู้เขียนขอสรุปว่าพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษจะมีรายได้อยู่ 2 ส่วนหลักคือ...

1. จากรัฐบาลอังกฤษถวายที่เรียกว่าเงินอุดหนุนและเงินจากที่ดินส่วนพระองค์ Private Estate โดยการให้เช่า

>> ลองมาดูกันว่าในส่วนเงินอุดหนุนประจำปีที่รัฐบาลอังกฤษถวายนี้มีที่มาอย่างไร?

รายได้ส่วนนี้ จะมาจากเงินงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนที่รัฐบาลตั้งขึ้น โดยเดิมทีเรียกกันว่า Civil List หรือเงินปี ซึ่งแต่เดิมจะกำหนดยอดเงินตายตัวว่ารัฐบาลจะถวายทุกปีจำนวนนี้ 

แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 2012 มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและเปลี่ยนชื่อเงินปี เป็น Sovereign Grant หรือเรียกว่าเงินอุดหนุน โดยมีการพิจารณาหรือคำนวณยอดเงินที่จะถวายแต่ละปีเสียใหม่คือ คำนวณจากผลกำไรของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (The Crown Estate คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษแต่ว่าดำเนินการอิสระ มีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาดูแล) กำไรที่ได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นี้ จะส่งตรงให้กระทรวงการคลังและรัฐบาลอังกฤษ โดยจะใช้ยอดเงินที่เป็นกำไรนี้ มาเป็นบรรทัดฐานในการคำนวนเงินที่รัฐบาลจะถวายแก่พระราชวงศ์อังกฤษ

ยิ่งไปกว่านั้น The Crown Estate หรือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นี้ ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินแต่จะเป็นการตกทอดจากแผ่นดินสู่แผ่นดินเท่านั้น จะทรงซื้อขายไม่ได้

อย่างไรก็ดีจากรายงานล่าสุดของข่าวบีบีซีชิ้นนี้บอกว่า รัฐบาลอังกฤษได้พิจารณาทบทวนจำนวนเงินอุดหนุนที่จะถวายเสียใหม่อีกครั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป คือ รัฐบาลจะถวายเงินอุดหนุนเป็นจำนวน 12% จากผลกำไรของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ The Crown Estate และจะยืน 12% นี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2527 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการซ่อมแซมพระราชวังบักกิงแฮม อันเป็นโครงการซ่อมแซม 10 ปี (ใช้เงินราว 379 ล้านปอนด์) หลังจากปีนั้นแล้วก็มาพิจารณากันใหม่อีกที

>> ท่านผู้อ่านคงอยากทราบแล้วว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อังกฤษนั้น ท่านมีอยู่มากน้อยเท่าใด? 

เมื่อปีที่แล้ว ค.ศ. 2022 มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อังกฤษว่ามีอยู่ราว (16.5 bn ปอนด์) กว่าหนึ่งหมื่นหกพันล้านปอนด์ โดยเป็นอสังหาริมทรัพย์ในลอนดอน, รวมทั้ง Regent Street, อันเป็นย่านช้อปปิ้งชื่อดังของอังกฤษ และที่ดินชายฝั่งอังกฤษอีกเกือบครึ่งหนึ่ง, ในเวลส์ และไอแลนด์เหนือ (ที่ดินเหล่านี้มีมูลค่าราวแปดพันล้านปอนด์)

>> นั่นก็เป็นเงินที่รัฐบาลจัดถวาย แต่เมื่อถวายแล้วเงินจำนวนนี้จะมีการใช้จ่ายอย่างไร?

พระราชวังจะใช้ไปในงานราชพิธีที่เสด็จออกสมาคมให้ประชาชนเฝ้าเช่นงานเลี้ยงรับรอง, งานพระราชทานรางวัลและงานสมาคมในสวน Garden Party เช่น Garden Party ในพระราชวังบักกิงแฮมอันเป็นงานที่ประชาชนที่ได้รับคัดเลือกจากการทำงานเพื่อสังคม หรือประกอบคุณงามความดีต่าง ๆ จะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ โดยมีการนับว่าในรอบปีที่ผ่านมาพระราชวงศ์จะเสด็จออกงานทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจำนวน 2,700 ครั้ง มีงานที่จัดขึ้นตามวังหรือตำหนักที่ประทับของพระราชวงศ์อีก 330 ครั้ง มีแขกที่ได้รับเชิญเกือบหนึ่งแสนคน และนอกจากเงินที่ใช้ไปในการจัดงานแล้ว ก็จะเป็นค่าจ้างพนักงานและดูแลอาคารที่ประทับ สรุปคือ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลถวายจะเป็นค่าใช้จ่ายในการทรงงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนนั่นเอง

2. ในส่วนรายได้หรือพระราชทรัพย์หลักอีกทางหนึ่งและมากโขอยู่ของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษก็คือการเป็นเจ้าของที่ดินส่วนพระองค์ในตำแหน่ง Duchy of Lancaster และ Duchy of Cornwall

พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษในฐานะที่เป็น 'ดัชชีแห่งแลงคาสเตอร์' จะทรงเป็นเจ้าของที่ดินกว่า 18,000 เฮกตาร์ กินพื้นที่ในแลงคาสเตอร์และยอร์กเชอร์ รวมถึงที่ดินในกลางกรุงลอนดอนด้วย ที่ดินเหล่านี้มีมูลค่า 654 ล้านปอนด์และทำเงินในการให้เช่าปีละประมาณ 20 ล้านปอนด์

สำหรับผลประโยชน์อีกตำแหน่งหนึ่งคือ 'ดัชชีแห่งคอนวอลล์' นั้น กำหนดว่า ผู้ใดที่ดำรงตำแหน่ง ดยุคแห่งคอนวอลล์ ซึ่งปัจจุบันคือ เจ้าชายวิลเลียมจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากตำแหน่งนี้ โดยเป็นผู้ถือครองที่ดินทางตะวันตกฉียงใต้ของอังกฤษอันมีมูลค่า 1,000 ล้านปอนด์และทำรายได้สุทธิในปีนี้ 24 ล้านปอนด์

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเจ้าชายวิลเลียมจะทรงได้รับเงินรายได้จากที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวโดยตรงและสามารถใช้ตามที่มีพระประสงค์ เพราะเป็นเงินจากที่ดินที่เป็นสิทธิ์ตามฐานะของท่าน ไม่ใช่เงินจากภาษีของประชาชน แต่ไม่สามารถที่จะขายที่ดินเหล่านี้ได้

***นอกจากเงินจากทั้ง 2 แห่งนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษและพระราชวงศ์ ก็จะมีทรัพย์ส่วนพระองค์ เช่นพระราชวังบ้าง ภาพวาดบ้าง เครื่องเพชรและของมีค่ามีราคาอื่น ๆ ซึ่งได้มาจากการซื้อด้วยเงินส่วนพระองค์

แน่นอนจะเห็นได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษทรงมีฐานะทางการเงินดีไม่น้อย

และเพื่อให้ประชาชนคนอังกฤษเห็นว่า ท่านไม่เอาเปรียบ...ในปี ค.ศ. 1992 สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสมัครพระทัยที่จะเสียภาษีเงินได้ที่เกิดจากรายได้ส่วนพระองค์ เช่นเดียวกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเจ้าชายวิลเลียม

เรื่อง: อนุดี เซียสกุล อดีต Radio Journalist, วิทยุบีบีซีภาคภาษาไทย

อ้างอิง: BBC news, Royal finances: Where does the King get his money?

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งอังกฤษ วินาทีเสด็จขึ้นประทับพระราชบัลลังก์ The enthronement

เมื่อ 70 ปีที่แล้วชาวอังกฤษได้ชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษผ่านทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก (2 มิถุนายน 2496) การถ่ายทอดครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดีมีเสียงคัดค้านว่าไม่ควรที่จะถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในพระราชพิธีที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์นี้ เพราะเป็นของสูงและคนชมอาจจะไม่สำรวมพอในระหว่างที่ชม

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระราชินีฯ ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่มากคือทรงมีพระชนมายุเพียง 25 พรรษา ทรงมีพระราชานุญาตให้สถานีบีบีซีที่พร้อมและสามารถที่จะเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกได้ ชาวอังกฤษจึงมีโอกาสชมพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ของตนทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก

และเช่นกันในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณ วิหารเวสต์มินสเตอร์ใจกลางกรุงลอนดอนก็จะมีพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ตามโบราณราชประเพณีเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนการว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่ได้ผ่านการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยพิธีการทางศาสนาและท่ามกลางมหาสมาคม

พระราชพิธีในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ตามรายงานข่าวของบีบีซีภาษาอังกฤษบอกว่าแม้จะใช้เวลาราวๆ สองชั่วโมง แต่ก็มีการตัดทอนให้กระชับกว่าเดิม

เวลา 11 โมงเช้าเมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลล่าเสด็จมาถึงวิหารเวสต์มินสเตอร์ ทั้งสองพระองค์จะเสด็จเข้าทางประตูที่เรียกว่า The Great West Door ที่นั่นผู้นำทางศาสนา, ผู้แทนพระองค์, ผู้แทนจากประเทศในเครือจักรภพและนายกรัฐมนตรีอังกฤษรับเสด็จและนำเสด็จเข้าไปในวิหาร

>> พระราชพิธีแรกที่เริ่มขึ้นเรียกว่า The Recognition หรือการยอมรับ
ในที่นี่พระเจ้าชาร์ลส์จะแสดงพระองค์ต่อที่ชุมนุมโดยจะประทับยืนข้างๆ พระเก้าอี้ราชาภิเษก Coronation Chair (บางที่ก็เรียกว่าบัลลังก์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่มีอายุถึง 700 ปีทำด้วยไม้) พระองค์จะหันพระพักตร์ไปยังทั้งสี่ทิศและจะมีเสียงประกาศว่า Undoubted King คือ กษัตริย์ที่แท้จริงและผู้ที่ชุมนุมในที่นั้นจะแสดงความเคารพและความจงรักภักดี

อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี่ Archbishop of Canterbury หรือจะเทียบกับทางพุทธก็คือสมเด็จพระสังฆราชจะทรงเป็นผู้ประกาศคนแรก ต่อมาผู้ที่ชุมนุมในที่นั่นจะตะโกนว่า “God Save the King” พิธีการนี้อังกฤษทำมาตั้งยุคแองโกลแซกซัน

>> ในขั้นตอนที่ 2 คือการให้คำสาบาน The Oath
พระราชพิธีในขั้นตอนนี้คือจะทรงให้คำมั่นสัญญาอยู่สองคำสัญญา อันแรกเรียกว่า the Coronation Oath อันเป็นข้อกำหนดไว้ในกฎหมายว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องสาบานในเรื่องนี้โดยท่านอาร์ชบิชอปจะเป็นผู้นำกล่าวคำสาบานและพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงกล่าวคำยืนยันว่าจะส่งเสริมและรักษากฎหมายและศาสนจักร Church of England ตลอดการครองราชย์สมบัติ ส่วนในคำสาบานอีกครั้งที่สองเรียกว่า The Accession Declaration Oath คือคำประกาศว่าจะซื่อสัตย์ต่อนิกายโปรเตสแตนต์

เมื่อมาถึงพระราชพิธีตอนที่ 3 คือพิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์หรือ the anointing พระเจ้าชาร์ลส์จะทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์แล้วเสด็จไปประทับที่พระเก้าอี้เพื่อรับการถวายน้ำมันเจิมจากท่านอาร์ชบิชอป ก่อนที่พิธีจะเริ่มเจ้าพนักงานจะนำฉากมากั้นรอบพระองค์ เพื่อไม่ให้คนภายนอกเห็น เพราะพิธีนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แม้ว่าเราอาจจะไม่เห็น แต่มีการอธิบายว่าท่านอาร์ชบิชอป จะรินน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากภาชนะใส่น้ำมันเพื่อทำพิธีกรรม The Ampulla ลงในช้อน The Coronation Spoon (ช้อนราชาภิเษกอันนี้ถือว่าเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลือรอดจากการทำลายของ โอลิเวอร์ ครอมเวล หลังจากชนะในสงครามกลางเมืองของอังกฤษ) และจะทรงเจิมที่พระนลาฏ, พระอุระ และพระหัตถ์ทั้งสอง

เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เริ่มปรับเปลี่ยนงานในพระราชวัง และพระราชินีอังกฤษจะไม่มีนางสนองพระโอษฐ์

พระเจ้าชาร์ลส์เริ่มปรับเปลี่ยนงานในพระราชวัง พระราชินีอังกฤษจะไม่มีนางสนองพระโอษฐ์

แม้จะเป็นเพียงข่าวเล็ก ๆ แต่ก็น่าสนใจไม่น้อย และถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อปฏิบัติของฝ่ายในของพระราชวงศ์อังกฤษที่มีมาตั้งยุคกลางก็ว่าได้ สำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมเปิดเผยว่า พระราชินีคามิล่าของอังกฤษจะไม่มีนางสนองพระโอษฐ์คอยติดตามและช่วยงานเหมือนกับพระราชินีอังกฤษองค์อื่น ๆ ที่ผ่านมา หากแต่ว่าจะมีผู้ที่ติดตามหรือเป็นเพื่อนในระหว่างออกงานในตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า ‘Queen Companion’ แทนตำแหน่งเดิมคือ ‘Lady-in-Waiting’

การประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อและหน้าที่การงานของผู้ช่วยฝ่ายหญิงของพระราชินีคามิล่าครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงว่าพระราชวงศ์อังกฤษกำลังมุ่งไปสู่ยุคใหม่ของการที่จะลดจำนวนข้าราชบริพารและหน้าที่ที่จะคอยรับใช้ให้มีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ในกรณีนี้พระราชินีคามิล่าจะมี Queen Companion เพียง ๖ คนและจะไม่ต้องมาบ่อยจะมาก็เมื่อจำเป็นจริง ๆ และหน้าที่ใหม่นี้จะไม่รวมถึงการต้องตอบจดหมายที่ประชาชนส่งมาถึงพระราชินีหรืองานธุรการต่าง ๆ เช่นการเตรียมแผนงานต่าง ๆ เหมือนเช่นเคย (เดิมนั้นจดหมายที่ประชาชนส่งมาถึงพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ จะมีการตอบรับซึ่งมีจำนวนมาก แต่จากนี้ไปอาจจะมีพนักงานกลุ่มอื่นรับหน้าที่ไปแทน)

Queen Companion (น่าจะเรียกว่าผู้ติดตามและยังเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติอยู่) ทั้ง ๖ ท่านนี้จะมาจากบรรดาเพื่อน ๆ เก่าแก่ของพระราชินี ทั้งหมดจะไม่ได้รับเงินเดือนแต่จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรืออื่นๆที่เกิดขึ้นจากการมาทำงานได้

สำหรับนางสนองพระโอษฐ์ (Lady-in-Waiting) ที่เคยทำงานถวายสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒ ผู้ล่วงลับนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงมอบหมายให้มาช่วยงานที่พระราชวังบัคกิ้งแฮมในตำแหน่ง ‘ladies of the household’ เมื่อมีงานเลี้ยงพระราชทานแขก การเปลี่ยนแปลงผู้ช่วยฝ่ายในของพระราชินีดังกล่าวเหมือนกับเป็นการตัดขาดกับอดีตที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายร้อยปีที่บรรดานางสนองพระโอษฐ์พระราชินีมักจะมาจากสตรีสูงศักดิ์ ครอบครัวขุนนางที่มีอำนาจราชศักดิ์และจากความใกล้ชิดเช่นนี้บางครั้งก็นำไปสู่การวางแผนร้ายต่าง ๆ เช่นโค่นราชบัลลังก์หรือโค่นขุนนางด้วยกัน

แต่นับแต่นี้ต่อไป ผู้ที่ช่วยงานพระราชินีอังกฤษจะมีหน้าที่เพียงติดตามเมื่อท่านออกงานและไม่ได้ใกล้ชิดมากเหมือนเช่นเคย ถ้าจะพูดตามภาษาคนธรรมดาก็คือพระราชินีจะมีเพียงผู้ติดตามเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อจะเป็นการเตรียมหรือแสดงให้เห็นว่าราชวงศ์อังกฤษกำลังมุ่งไปสู่ความเป็นธรรมดามากขึ้นหรือเพื่อประหยัดงบประมาณที่ต้องมีข้าราชบริพารมากเกินไป

นายกหนุ่มแห่งอังกฤษ เลือกวิ่งชนกำแพงเมืองจีน หลังลั่น!! ยุคทองความสัมพันธ์ 'จีน-อังกฤษ' จบลงแล้ว

ในคำปราศัยของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายริชชี่ ซูแน็กเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ได้สร้างความงงๆ ให้กับคนทั่วไป แม้แต่นักการเมืองและนักข่าวของอังกฤษเองถ้วนหน้า เมื่อนายซูหนักบอกว่า “ยุคทองของความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนได้สิ้นสุดลงแล้ว และอังกฤษจะปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่กับจีนให้เข้มแข็งจริงจังเหมือนคู่แข่งขันที่แท้จริง” 

นายซูแน็กยังวิจารณ์ต่อไปว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างอังกฤษกับจีนนั้นเป็นเรื่องอ่อนหัด

เรื่องนี้ดูท่า นายซูแน็กดู จะเอาจริง!! เพราะที่ที่เขาพูดคืองานเลี้ยงประจำปีที่เรียกว่า The Lord Mayor’s Banquet ในกรุงลอนดอน ซึ่งแขกผู้ฟังของเขาก็คือบรรดาผู้นำทางธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การพูดในงานเลี้ยงครั้งนี้เป็นการประกาศนโยบายต่างประเทศครั้งแรกของนายซูแน็กหลังจากเป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะประเด็นที่เฉพาะเจาะจงกับจีน

แน่นอนว่า การพูดเช่นนี้ออกมา เจ้าตัวเองก็คงจะรู้ดีว่า ต้องถูกวิจารณ์ว่านี่เป็นพูดให้ดูสวยหรูดูดี แต่เขาก็ดักคอไว้ว่าสิ่งที่เขาพูดออกไป ไม่ใช่วาทศิลป์ที่ให้ฟังเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ประทับใจเท่านั้น

นั่นก็เพราะในปีใหม่ที่จะมาถึงในไม่ช้านี้นั้น นายซูแน็ก บอกว่า รัฐบาลอังกฤษจะประกาศถึงแผนการที่เขาเรียกว่า 'การทบทวนแผนรวมความมั่นคงของประเทศกับนโยบายต่างประเทศ' ที่เรียกว่า The Integrated Review ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีหน้าตาอย่างไรและต้องคอยดูว่าจะกล้าหาญเด็ดเดียวเหมือนในยุคของนางลิส ทรัสส์เป็นนายกรัฐมนตรีแค่ไหน 

เนื่องจากมีรายงานว่าในระหว่างที่เป็นนายกรัฐมนตรี 45 วันนั้น นางทรัสส์กำลังวางแผนที่จะจัดประเภทของจีนให้อยู่ในประเทศที่ 'คุกคาม' ต่ออังกฤษ แต่เธอยังไม่ได้ทำเรื่องนี้ ก็ต้องลาออกไปเสียก่อน กลับกันคำปราศัยของนายซูหนักในงานเลี้ยงดังกล่าวเขาเพียงแต่กล่าวว่าจีนมีความท้าทายที่เห็นได้ชัดเจนต่อความเชื่อและผลประโยชน์ของอังกฤษ และจีนได้เพิ่มความท้าทายไปสู่การเป็นเผด็จการมากขึ้นกว่าเดิม โดยนายซูหนักใช้คำว่าจีน 'ท้าทาย' แทนคำว่า 'คุกคาม' ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่าอ่อนไป 

อย่างไรก็ตามการกล้าออกมาประกาศว่ายุคทองของความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับจีนหมดสิ้นแล้วก็ถือได้ว่า แข็งกร้าวใช้ได้ไม่น้อย ในขณะที่จีนกำลังมีบทบาทเด่นชัดในเวทีโลกทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจขณะนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษหมาดๆ และหนุ่มที่สุด และมีเชื้อสายอินเดียผู้นี้ ย่อมตระหนักดีว่าจีนมีบทบาทอย่างสำคัญต่อโลกในด้านต่างๆ เช่นเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกหรือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก (ฟังๆ ดูก็ขัดแย้งกันอยู่ว่าอังกฤษจะเอาอย่างไงกับจีน)

>> ทีนี้เมื่ออังกฤษ จะไม่ให้ความสำคัญกับจีน แล้วอังกฤษจะให้ความสำคัญกับใคร?

นายซูหนักประกาศว่ารัฐบาลของเขาจะยังคงความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับสหรัฐฯ, แคนาดา, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อผนึกกำลังทางการทูตและธุรกิจให้เกิดการแข่งขันที่มีพลังยิ่งขึ้น (ในการสู้กับจีน) 

กลับมาที่คำถามว่า ทำไมจู่ๆ นายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้นี้จึงออกมาประกาศเปรี้ยงว่า ยุคทองกับจีนจบสิ้นลงแล้ว!!

ผู้สื่อข่าวบีบีซีบอกว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะนายซูแน็กถูก ส.ส. พรรคคอนเซอเวทีฟด้วยกันกดดันว่าอังกฤษควรมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีนตั้งแต่เขาเข้ามาเป็นนายกฯใหม่ๆ อีกด้านหนึ่งนายซูแน็กก็ถูกคณะกรรมการด้านต่างประเทศของสภาผู้แทนตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ของอังกฤษที่มีต่อจีนหลังจากที่คณะกรรมการชุดนี้ไปพบกับประธานาธิบดีของไต้หวัน และมีคำถามต่อไปอีกด้วยว่านโยบายต่างประเทศของอังกฤษต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิคเป็นอย่างไรและอังกฤษจะสามารถเพิ่มอิทธิพลของตนในภูมิภาคนี้ได้หรือไม่

เพราะฉะนั้นนายซูแน็กจึงใช้โอกาสที่พบพูดจากับนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศในงานเลี้ยงของนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนประกาศถึงท่าทีของอังกฤษที่มีต่อจีนอย่างแข็งกร้าว ว่าต่อจากนี้ไปความสัมพันธ์นั้นจะเปลี่ยนเป็นการแข่งขันที่อังกฤษเอาจริง ไม่เหมือนกับท่าทีของรัฐบาลอังกฤษเมื่อสิบปีที่แล้ว ที่อดีตนายกฯ ยุคนั้นอย่างนายเดวิด แคมเมอรอน พยายามที่จะดึงจีนให้มาเป็นมิตรทางเศรษฐกิจและคู่ค้าที่สำคัญ โดยไม่เป็นศัตรูทางการเมือง

ทว่าคำประกาศที่ดูจะตัดญาติขาดมิตรไม่ยี่หระกับจีนของนายซูแน็ก ก็ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจาก ส.ส. พรรคเดียวกัน เช่น อดีตหัวหน้าพรรคคอนเซอเวทีฟ เซอร์ เอียน ดังคั้น สมิท ที่เป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายไม่อ่อนกับจีนว่า "กระทรวงต่างประเทศอังกฤษจะใช้วิธีการอย่างไรที่จะสร้างความตื่นตระหนกวิตกให้จีนบ้างในคำประกาศว่าจะกระทำอย่างจริงจังนี้ช่วยขยายความหน่อย" ส่วนแน่นอนพรรคฝ่ายค้าน คือ เลเบอร์ วิจารณ์ว่า "คำพูดนี้จืดเหมือนโจ๊ก และใช้วาจาเปลี่ยนไปมากับนโยบายที่มีต่อจีน"

COP 27 เวทีสำคัญถกแก้วิกฤตโลกร้อน มุ่งรักษาอุณภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

โลกร้อนที่กำลังคุกคามชีวิตกับ COP 27 จะมีผลเพียงใด

"We are on a highway to climate hell with our foot on the accelerator," UN Secretary General Antonio Guterres told the summit.

เรากำลังเหยียบคันเร่งบนถนนไฮเวย์ไปสู่ภูมิอากาศที่เลวร้ายราวนรกในขณะนี้ (นายกูเตอเรสกำลังบอกว่าโลกของเรากำลังพุ่งไปสู่ปัญหาภูมิอากาศที่ร้ายแรงในขณะนี้ ถ้าไม่ร่วมมือกันแก้ไข-ผู้เขียน)

นั่นคือคำเตือนของนายอันโตนิโอ กูเตอเรส เลขาธิการสหประชาชาติที่พูดในการประชุม COP 27 ที่จัดขึ้นในอียิปต์ระหว่างวันที่ ๖ – ๑๘ พฤศจิกายนนี้

COP ย่อมาจาก Conference of the Parties เป็นการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง ๒๖ ปีที่ผ่านมาและถือเป็นเครื่องมือที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศ

เรื่องภูมิอากาศโลกนี่เราคงคิดว่ายังอยู่ไกลตัว แต่ถ้าท่านลองใช้เวลาอ่านบทความนี้สักนิดจะเห็นว่าการประชุม COP ที่อียิปต์ในขณะนี้ มันกำลังใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีและน่าวิตกยิ่ง เพราะ ปัญหาโลกร้อนที่เพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อย ๆ กำลังคุกคามชีวิตทุกชีวิตบนโลกนี้

COP27 opened on Sunday with a warning from the UN that our planet is "sending a distress signal".

การประชุม COP 27 ที่เปิดไปเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายนที่ผ่านมาสหประชาชาติได้ส่งคำเตือนที่น่าตกใจว่าโลกที่เราอาศัยอยู่กำลังส่งสัญญาเตือนภัยออกมาบ่อยครั้งขึ้น และประเทศต่างๆพึงจะได้ช่วยกันแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไปจนแก้ไม่ได้

ก่อนที่เราจะไปดูการประชุม COP 27 ของปีนี้หรือความพยายามของประเทศต่างๆที่จะลดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ climate change ขอพูดถึงคำ ๆนี้ ก่อนว่าส่งผลต่อ changing the weather อย่างไร

Climate change หรือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ส่วนใหญ่ โดยมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน, การใช้น้ำมันและก๊าซ เพื่อเป็นพลังงานที่มนุษย์ใช้เพื่อการดำรงชีวิตและทำธุรกิจต่างๆ การเผาไหม้พลังงานเหล่านี้ทำให้โลกร้อนขึ้นทุกปีเพราะมนุษย์เพิ่มการใช้พลังงานนี้ขึ้นทุกปี เมื่อโลกร้อนขึ้นได้ส่งผลต่อสภาพอากาศของโลก ๔ อย่างคือ ๑. อุณหภูมิโลกสูงขึ้น คลื่นความร้อนแผ่กระจายนานขึ้น ๒. แผ่นดินแห้งแล้งนานขึ้น ๓. ไฟป่าเกิดบ่อยขึ้น และ ๔. ฝนตกหนักมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้คงไม่ต้องอธิบายเพราะเราคงรู้ดีว่ามีผลต่อชีวิตอย่างไร ตัวอย่างเช่นอินเดียและปากีสถานเผชิญกับคลื่นความร้อนติดต่อกันมาห้าปีแล้ว  ปีที่แล้วในแคนาดาเมืองๆหนึ่งเกิดไฟไหม้เมื่ออุณหภูมิสูงถึง ๔๙.๖ องศาเซลเซียส เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในฝรั่งเศส สเปน และกรีซเป็นต้น ไฟป่าในสหรัฐกินพื้นที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำคนหนึ่งของสหรัฐบอกว่า ถ้าเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในที่หนึ่งและในอีกที่หนึ่งของโลกจะเกิดฝนตกอย่างรุนแรง

องค์กรระหว่างประเทศคือ Intergovernmental Panel on Climate change (IPCC) คาดว่าประชากรราว ๒๐ ล้านคนในอัฟริกาตะวันออกจะเผชิญกับความอดอยากจากปัญหาความแห้งแล้ง

สภาพอากาศที่รุนแรงที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือที่มาของการประชุม COP ที่สหประชาชาติพยายามขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ แต่ก็ยังไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยนักตัวอย่างง่าย ๆ บีบีซีภาษาอังกฤษรายงานว่าก่อนการประชุมใหญ่สหประชาชาติขอให้ประเทศที่จะเข้าประชุม (๒๐๐ ประเทศ) เสนอแผนการภูมิอากาศที่ประเทศนั้น ๆ มุ่งมั่นว่าจะพยายามทำแต่ปรากฏว่ามีเพียง ๒๕ ประเทศเท่านั้นที่เสนอมา 

ทีนี้มาดูกันว่าที่ประชุม COP 27 ที่อียิปต์เขาจะมีประเด็นสำคัญอะไรกันบ้าง มีอยู่ ๓ เรื่องสำคัญคือ ๑. ลดพฤติกรรมทั้งหลายที่จะทำให้เกิดมลพิษลง ๒. ให้ความช่วยเหลือต่อประเทศต่างๆในการเตรียมการหรือรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และ ๓.ให้ความมั่นใจในความช่วยเหลือทางเทคนิคและให้เงินกับประเทศที่กำลังพัฒนาในสองประเด็นแรกที่กล่าวถึง

พร้อมกันนี้จะยังนำประเด็นจากการประชุม COP 26 เมื่อปีที่แล้วที่ยังทำไม่สำเร็จมาหารือกันอีก เช่น การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินต่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเช่นน้ำท่วม น้ำแล้งให้ฟื้นคืนตัว แต่มิใช่จะให้เงินเฉพาะการป้องกันเท่านั้นหากแต่จะพยายามให้ประเทศเหล่านั้นลดการใช้ถ่านหินลงด้วย (เพราะเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก แต่ก่อให้เกิดมลพิษสูง)

ความสำคัญของการประชุม COP 27 ปีนี้ไม่ได้จำกัดวงแต่เพียงสิ่งที่กล่าวมาเท่านั้น แต่หัวใจที่รัฐบาลทุกประเทศและประชากรโลกต้องทำคือ พยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นถึง ๑.๕ องศาเซลเซียสให้ได้  IPCC ชี้ว่าหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมาอุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นไปแล้ว ๑.๑ องศาและถ้าหาก อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นในระดับ ๑.๗-๑.๘ องศาเซลเซียส IPCC คาดว่าประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งจะผจญกับระดับความร้อนและความชื้นที่มีผลต่อชีวิตได้เลยและด้วยความตระหนักถึงอันตรายของความร้อนนี้จึงมีการลงนามในข้อตกลงปารีส  the Paris Agreement ในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ โดยประเทศต่าง ๆ ถึง ๑๙๔ ประเทศให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามช่วยกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น ๑.๕ องศา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะต้องทำให้ได้ภายในปี ๗๘ ปีข้างหน้า (ค.ศ. ๒๑๐๐)

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์แบบไหน ภายใต้ความท้าทายของอังกฤษยุคใหม่

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ของอังกฤษ ที่เพิ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อเดือนกันยายนปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้จะมีทิศทางในการเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไร ท่านจะดำเนินตามแนวทางของสมเด็จพระมารดาคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ หรือจะทรงมีแนวทางของพระองค์เอง

จากที่ได้อ่านข่าวและบทความภาษาอังกฤษมา พอจะประมวลได้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่ท่านคงจะมีกุศโลบายของพระองค์เองเป็นหลัก และดำเนินรอยตามพระมารดาในสิ่งที่ทรงเห็นว่าเป็นผลดีอยู่แล้ว เห็นมีการวิเคราะห์กันว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ นี่คงจะทรงงานในฐานะพระประมุขได้อย่างราบรื่น ไม่น่าจะมีปัญหามากนัก เพราะทรงรั้งตำแหน่งมกุฎราชกุมารมาอย่างยาวนานที่สุดถึง ๕๒ ปี อย่าลืมกันนะคะว่า ปีนี้พระชนมายุ ๗๓ พรรษาแล้ว ทรงรู้ทรงเห็นและทรงเจอกับปัญหาทั้งบวกและลบมาพอสมควร 

ประกอบกับระยะเวลาอันยาวนานที่พระมารดาดำรงฐานะพระประมุขของประเทศถึง ๗๐ ปี ทรงพบปะเจอะเจอกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษเองถึง ๑๕ คนและประธานาธิบดีสหรัฐถึง ๑๔ คน และผู้นำของประเทศอื่นๆอีกทั่วโลก เพราะฉะนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ คงทรงได้เรียนรู้การงานภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศมาอย่างเต็มที่แล้วและจากนี้ต่อไปการที่จะต้องทรงงานด้วยพระองค์เอง คงทรงทำได้และอาจทำได้ดีอีกด้วย

แต่มีสิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปได้ทราบหรือคนที่ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านทราบกันดีคือ พระนิสัยที่ทรงชอบวิจารณ์หรือเสนอแนะในเรื่องต่างๆต่อรัฐบาลอังกฤษ มีหลายเรื่องหลายประเด็นเช่นการเกษตร ท่านสนับสนุนการเกษตรอินทรีจนมีโครงการของตัวเอง,เรื่องผังเมือง,สถาปัตยกรรม,การศึกษา หรือแม้แต่เรื่องการสงวนรักษาพันธุ์ปลา ดังนั้นเมื่อทรงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วจะยังมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐบาลอีกหรือไม่

แน่นอน แต่อาจจะเปลี่ยนจากการส่งโน๊ตไปถึง แต่ท่านจะสามารถพูดโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้เลย เพราะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินทุกสัปดาห์ ในการเข้าเฝ้านั้นพอที่จะทราบกันว่าจะต้องเป็นการหารือข้อราชการงานเมืองทั้งหลาย นายกรัฐมนตรีอาจจกราบทูลในเรื่องต่างๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินควรทรงทราบและพระองค์ท่านก็จะทรงแสดงความคิดเห็น ส่วนรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ ก็ได้เพราะอำนาจในการบริหารเป็นของรัฐบาล และที่ผ่านมาไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาของการหารือนะคะ ไม่มีใครทราบ

ทีนี้สำหรับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ในครั้งที่ทรงเป็นมกุฎราชกุมารท่านกล้าที่จะแสดงความเห็นต่อรัฐบาลว่าควรทำหรือจัดการกับเรื่องนั้นหรือทำให้ดีขึ้นอย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อทรงอยากจะเสนอแนะในเรื่องใดจะทรงส่งลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ไปถึงรัฐมนตรีคนนั้นจนมีการเอ่ยกันในรัฐบาลว่ามีใครได้รับ “Black Spider Memos” บ้าง

อันหมายถึงลายพระหัตถ์ยุ่งๆเหมือนใยแมงมุมนั่นเอง คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะทรงมีลายพระหัตถ์ไปถึงรัฐมนตรีโดยตรงอันแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านมีความมั่นพระทัยมากทีเดียวที่ทำเช่นนั้น ทีนี้มี reaction ต่อ Black Spider Memos นี้กันอย่างไร ตามที่บทความบีบีซีภาษาอังกฤษเขาเขียนไว้ อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งเขาบอกว่า การที่ได้รับจดหมายข้อความจากท่าน เขาไม่รู้สึกว่าถูกกดดัน แต่เห็นว่าเป็นเพียงความต้องการที่อยากจะให้เกิดการกระทำในเรื่องนั้นเท่านั้น และไม่ใช่การที่จะนำไปสู่การขัดแย้งใด เป็นเพียงการเสนอความเห็นของพระองค์และ ไม่เป็นการแทรกแซงหรือบังคับ

ในตอนนั้นเมื่อมีการกล่าวถึงพระองค์ว่าทรงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของรัฐบาล เมื่อนักข่าวทูลสัมภาษณ์ท่านประเด็นนี้ ท่านตอบดีมาก คือ “ถ้าหากเขาเห็นว่าเป็นการแทรกแซง ฉันก็ภูมิในทีเดียว”

“If that's meddling, I'm very proud of it." But he acknowledged that he was in "a no-win situation.”

แต่ก็ทรงยอมรับว่าท่านไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะชนะได้ คำตอบเช่นนี้ทำให้เห็นว่าเจ้าฟ้าชายหรือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ทรงทราบดีว่าพระองค์อยู่ในฐานะพระประมุขเท่านั้น แต่ท่านก็พูดเหมือนจะประชดประชันในทีครั้งหนึ่งว่า “ถ้าไม่ทำอะไรเลย คนก็จะบ่นว่าไม่ทำอะไร แต่ถ้าพยายามหรือยืนกรานที่จะช่วยทำอะไรในสิ่งที่เห็น อีกนั่นแหละก็จะถูกบ่นว่าเช่นกัน”

ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งคนละเวลานะคะ ทรงบอกว่า พระองค์พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองของพรรคต่างๆ คือไม่สนับสนุนหรือติเตียนพรรคใด แต่ในบางครั้งก็รู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องพูดออกไปในปัญหาที่เกี่ยวกับชีวิตการเป็นอยู่ของประชาชน ทรงเข้าใจสังคมอย่างดี

ถึงอย่างไรก็ดีก็มีนักการเมืองบางคนที่เข้าใจในความคิดของเจ้าชายอยู่เหมือนกัน  อดีตรัฐมนตรีของพรรคเลเบอ คนหนึ่งเล่าว่าหลังจากที่เขาได้สนทนากับพระองค์แล้ว เขาเห็นว่าท่านมีจิตใจที่แน่วแน่และมุ่งมั่นในเรื่องที่คิดและยินดีที่จะเสี่ยงที่จะแหย่เท้า (พระบาท)เข้าไปในเรื่องที่ทรงเห็นว่าจำเป็นและสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการช่วยเหลือวัยรุ่นที่โชคไม่ดีมีปัญหา, ไม่พอใจกับชีวิตหรือการสิ้นหวัง มีพระประสงค์ที่จะช่วยคนหนุ่มสาวเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งอดีตรัฐมนตรีพรรคเลเบอคนนี้บอกว่า เขาประทับใจกับการใส่พระทัยในปัญหาวัยรุ่นของพระองค์มากทีเดียว ซึ่งอันที่จริงเขาบอกว่าในตำแหน่งมกุฎราชกุมารอาจจะไม่ต้องสนใจในเรื่องเหล่านี้ก็ได้สามารถดำรงตำแหน่งสบายๆ ไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลแก้ไขไป
แต่ท่านก็ไม่ยอมอยู่สบายๆ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์หรือองค์ประธานองค์กรต่างๆ ถึง ๔๐๐ กว่าแห่ง และองค์กรที่สร้างชื่อเสียงให้พระองค์อย่างมากคือ การตั้ง the Prince’s Trust อันเป็นองค์กรการกุศลช่วยเหลือวัยรุ่นโดยเฉพาะขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ที่ได้จากกองทัพเรือมาตั้งกองทุนนี้

The Prince’s trust ช่วยวัยรุ่นด้อยโอกาสจากพื้นที่ที่ยากจนทั่วประเทศในด้านการประกอบอาชีพ มาแล้ว ๙ แสนกว่าคน การตั้งองค์กรนี้ทำให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระอิสริยยสในขณะนั้นเห็นปัญหาที่หลากหลายของสังคมของประเทศของพระองค์โดยตรง แต่ทรงเล่าว่าเรื่องนี้กลับไม่ได้ความเห็นดีเห็นงามจากกระทรวงมหาดไทยนัก เพราะมหาดไทยเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การช่วยเหลือนี้สำเร็จได้เพราะเป็นปัญหาที่ยากที่จะแก้ไข

แต่ความเห็นดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้พระองค์ทรงท้อถอย ในการประทานสัมภาษณ์อีกครั้งในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ทรงบอกว่า ท่านประสูติในฐานะเจ้าฟ้าชายและต่อมาเป็นมกุฎราชกุมาร ดังนั้นจึงทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ว่า จะทรงทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและจะทำทุกอย่างที่ทรงทำได้

แน่นอนคนอาจจะเห็นว่า คำพูดจะพูดอย่างไรก็ได้ แต่ท่านทำจริง ตามที่เป็นข่าวจะเห็นว่าทรงแสดงความเห็นถึงการเป็นนักปฏิรูปที่อึดอัดกับการที่เห็นบางชุมชนถูกปล่อยปละละเลยหรือทอดทิ้งให้ล้าหลังไม่มีการพัฒนา ซึ่งการที่ท่านพูดแต่ละทีก็เป็นข่าวกระตุ้นได้บ้างเหมือนกัน

การให้ความสำคัญต่อส่วนรวมไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศอังกฤษเท่านั้น มีคนที่ทำงานกับท่านคนหนึ่งเล่าว่าได้รับโทรศัพท์จากท่านตอนราว ๓ ทุ่มเมื่อทรงทราบข่าวน้ำท่วมในปากีสถาน
Hitan Mehta, ฮิทาน เมตตา เป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยท่านตั้งองค์กรที่เรียกว่า The British Asian Trust คือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือระหว่างอังกฤษกับประเทศในเอเชีย เธอเล่าว่าในคืนวันศุกร์วันหนึ่ง ราวสามทุ่มได้รับโทรศัพท์จากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงบอกว่าพระองค์ทราบข่าวเกิดน้ำท่วมในปากีสถานและถามเธอว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เมตตาบอกว่าท่านมีงานอื่นมากมายแต่ก็ยังเมื่อทรงทราบถึงความเดือดร้อนในปากีสถานและแม้จะมืดค่ำก็ยังทรงถามไถ่เธอมาว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไร ท่านเป็นคนที่มีมนุษยธรรมอย่างจริงใจ

ความจริงจังและจริงใจนี้เมื่อฟังเจ้าชายแฮรี่พระโอรสเล่าถึงพระบิดาได้ฟังแล้วก็อดที่จะอมยิ้มไม่ได้ เจ้าชายแฮรี่บอกว่า พระบิดามักจะเสวยพระกระยาหารค่ำค่อนข้างดึก หลังจากเสวยเสร็จก็จะเสด็จไปที่โต๊ะทรงงาน แล้วก็จะหลับคาสมุดโน้ตของพระองค์

อีกด้านหนึ่ง  พระราชินีคามิล่าได้เล่าในการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ในวันครบรอบวันประสูติ ๗๐ ชันษาของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ ๓ ว่า ท่านเป็นคนที่พระทัยร้อนมาก ถ้ามีพระประสงค์จะทรงงานอันใดแล้ว คืองานนั้นต้องเสร็จตั้งแต่เมื่อวานนี้ คือใจร้อนจนรอให้งานเสร็จวันนี้ไม่ได้ อยากทำอะไรให้เสร็จโดยเร็วนั่นเอง
แต่ว่าเมื่ออยู่กับหลานๆ คือพระโอรสธิดาของเจ้าชายวิลเลี่ยมจะทรงหลอกล้อกับเด็กๆ หรืออ่านแฮรี่ พอตเตอร์ให้ฟัง ทรงทำเสียงตามตัวละครให้ด้วย

อังกฤษในช่วง ๗๐ ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายอย่าง มีประชากรหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น มีการตั้งคำถามว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไร ศาสตราจารย์ เวอร์นอน บร็อคดานอร์ Vernon Bogdanor ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ คาดว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะสามารถเข้าถึงประชาชนหลากหลายเชื้อชาติและหลากหลายความเชื่อถือได้อย่างดีเพราะทรงคุ้นเคยกับเรื่องนี้มานานและจะทรงพยายามสร้างความเป็นหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้นในประเทศได้ และจะสามารถเชื่อมกลุ่มชนที่ด้อยทางสังคมหรือประชาชนที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ก้อมีการคาดหวังอีกด้วยว่าในฐานะที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์งานศิลปะ, ด้านดนตรีและวัฒนธรรม งานเหล่านี้คงอยู่ในสายพระเนตรที่จะได้รับความสนใจและสนับสนุน แต่คาดกันว่าเรื่องม้าแข่งอาจจะไม่มากเท่ากับสมเด็จพระมารดาค่ะ

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่คาดว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ จะไม่ทอดทิ้งเพราะอยู่ในความสนพระทัยมากและมานานแล้วคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ Climate Change เรื่องนี้พูดกันว่าพระองค์ได้แสดงความห่วงใยและพูดถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมาก่อนคนอื่นๆ ทรงเป็นเสียงสำคัญที่ทำให้คนทั่วไปหันมาร่วมมือกันแก้ไข เมื่อปีที่แล้วได้ทรงเข้าร่วมการประชุมใหญ่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ในสกอตแลนด์ ทรงพบกับประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ทูลว่าให้พระองค์ช่วยแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป

Sir Lloyd Dorfman ผู้ที่ถวายงานมานานเห็นว่าเรื่อง Climate change นี่พระองค์อาจจะยังคงผลักดันต่อไปแต่อาจจะไม่เป็นตัวตั้งตัวตีเหมือนที่ผ่านมา

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จุดจบแห่งรัชสมัยที่มาก่อนเวลาอันควร เหตุไม่ประนีประนอม ‘กาลเวลา-รัฐสภา’ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ 1600-1649

ถ้าท่านมีโอกาสได้อ่านพระราชประวัติของพระเจ้าแผ่นดินของอังกฤษจะเห็นว่าหลายพระองค์มีวิถีชีวิตที่ถูกเอ่ยขานถึงด้วยเรื่องราวที่ค่อนข้างแปลกแต่จริงอย่างเช่นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 หรือพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 มักจะถูกนำมาเล่าถึงกันบ่อยๆ แต่ยังมีอีกพระองค์หนึ่งที่เส้นทางชีวิตของพระองค์ท่านก็ประหลาดและน่าฉงนอยู่มากทีเดียวและจุดจบของพระองค์ที่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย

กษัตริย์พระองค์นั้นคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ชีวิตของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีความขัดแย้งกันหลายอย่างแม้แต่ดิฉันเองเมื่อได้อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวพระราชประวัติของพระองค์ก็อดที่จะตื่นตาตื่นใจไปกับความเป็นไปของชีวิตของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 สิ้นพระชนม์มาแล้วเป็นเวลา 373 ปี แต่เรื่องราวของพระองค์ก็ยังเป็นที่กล่าวถึงจนปัจจุบัน และแม้ระยะเวลาการครองราชย์สมบัติของพระองค์จะไม่ยาวนักเพียง 24 ปี แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้รัชสมัยของพระองค์วุ่นวาย, เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับพระเจ้าแผ่นดินจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างผู้ที่สนับสนุนกษัตริย์กับผู้ต่อต้าน, หรือความขัดแย้งทางศาสนา, ความกระด้างกระเดื่องของสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์และการรีดนาภาษีจากประชาชน จนท้ายที่สุดพระองค์ต้องถูกตัดพระเศียรเพราะความผิดฐานกบฏ และทำให้อังกฤษต้องว่างเว้นการมีพระเจ้าแผ่นดินไประยะหนึ่ง คงพูดได้ว่าตลอดเวลา 24 ปีที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ปกครองแผ่นดินนั้นประเทศวุ่นวายที่สุด

เพื่อให้ท่านได้เข้าใจเหตุการณ์ทั้งหลายในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 อย่างชัดเจนและไม่สับสนเพราะมีประเด็นสำคัญเกิดขึ้นมากมายจนนำไปสู่ความขัดแย้งในประเทศ เราจะเริ่มจากพระนิสัยและบุคลิกของพระองค์กันก่อน จากข้อมูลที่บันทึกกันไว้ จะเห็นได้ว่าปัญหาหลักเกิดจากตัวของพระเจ้าชาร์ลส์เสียเองมากกว่า และถัดไปจะพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อท่านจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ประสูติในปี ค.ศ. 1600 ที่สกอตแลนด์ ในขณะที่สมเด็จพระบิดาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ปกครองสก็อตแลนด์อยู่ เมื่อตอนประสูติทรงเป็นเด็กที่อ่อนแอและขี้โรคมาก แม้พระชนมายุ 2 ปีแล้วก็ยังเดินหรือพูดไม่ได้ และเมื่อสามารถเดินได้ก็ต้องใช้เครื่องพยุงที่ข้อพระบาททั้งสองข้างเพราะพระชงค์หรือขาไม่มีแรงนั่นเอง เมื่อพระบิดาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษอีกตำแหน่งหนึ่ง พระองค์จึงต้องเสด็จมาประทับที่ลอนดอน ต้องทรงทิ้งให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ประทับอยู่ที่สก๊อตแลนด์กับพระพี่เลี้ยงก่อน เพื่อให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงพอที่จะเดินทางไกลได้ในเวลาต่อมา

พระองค์ทรงเติบโตมาด้วยพระวรกายที่เล็ก, อ้อนแอ่นและยังทรงพูดติดอ่าง แม้เมื่อเจริญพระชนม์พรรษามากขึ้นได้พยายามที่จะแก้ไขการติดอ่างนี้, นอกจากจะพูดติดอ่างท่านยังมีสำเนียงสกอตอีกด้วย, ปัญหาสำคัญอีกอันหนึ่งคือทรงขี้อายอย่างมาก จึงไม่ชอบสุงสิงกับใคร เมื่อทรงพระชันษามากขึ้นคนจะเห็นว่าทรงเย่อหยิ่งไม่พูดคุย ที่จริงเพราะทรงขี้อายมากๆ นั่นเอง

ที่จริงท่านไม่น่าที่จะมีโอกาสได้เป็นพระมหากษัตริย์เลยเพราะทรงมีพระเชษฐา คือ เจ้าชายเฮนรี่ ที่ทรงเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปมีบุคลิกร่าเริงร่างกายแข็งแรง แต่ด่วนสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ ไทฟอยด์ไปเสียก่อนเมื่อพระชนม์พรรษาเพียง 18 ปี พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงสนิทสนมเสน่ห์หากับพระเชษฐาพระองค์นี้มากทรงเสียพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเจ้าชายเฮนรี่สิ้นพระชนม์ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 12 ปี และต้องทรงโดดเดียวมากขึ้นอีกเมื่อพระพี่นางเอลิซาเบธทรงเสกสมรสและต้องเดินทางไปประทับที่เยอรมนี

แม้จะทรงขี้โรคและเหงาหงอย แต่ก็ทรงเติบใหญ่มาจนพระชนมายุ 25 ปี เป็นชายหนุ่มที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่พร้อมที่จะแบกรับหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินได้พอดี เมื่อพระบิดาพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์และเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษ สวรรคต

เมื่อเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 หน้าที่สำคัญอันดับแรกของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ คือ ต้องตั้งครอบครัว ดังนั้นก็ต้องเสาะหาพระชายา ครั้งแรกทรงมุ่งไปที่สเปนหมายมั่นจะอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินสเปน  แต่ฝ่ายสเปนมีเงื่อนไขที่ทรงยอมรับไม่ได้ เลยเบี่ยงเข็มมาที่ฝรั่งเศส ในที่สุดทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง เฮนเรียตต้า มาเรีย พระน้องนางของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แต่ก็มีปัญหาอยู่ตรงที่ศาสนาคือเจ้าหญิงเฮนเรียตต้า มาเรีย ทรงเป็นคาทอลิคแต่อังกฤษเป็นโปรแตสแตน

เรื่องศาสนาของพระชายานี่ทำให้สภาอังกฤษและคนอังกฤษคลางแคลงใจว่าอาจจะนำปัญหามาสู่อังกฤษแต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงให้คำมั่นต่อสภาอังกฤษว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อจำกัดของนิกายโรมันคาทอลิคในประเทศแต่อย่างใด  และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ที่วิหารเวสมินสเตอร์ พระชายา-พระราชินี ก็ไม่ได้เสด็จมาร่วมด้วยตามบันทึกเพราะทรงไม่ยอมรับพิธีของนิกายโปรแตสแตน

รัชสมัยของพระองค์เริ่มต้นด้วยปัญหาทางศาสนาเป็นอันดับแรกเลย และตามด้วยความไม่พอใจในความประพฤติของพระสหายสนิทคือ ดยุคแห่งบัคกิ่งแฮม ที่คนเห็นว่ามีอิทธิพลและอำนาจมากไป จนเขาถูกกำจัดไปในที่สุด และปัญหาอื่นๆ ก็ตามมา

แต่ที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อและความดื้อรั้นของพระองค์เอง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงมีความเชื่ออย่างแน่วแน่ในสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ Divine Right of King และนี่ก็เป็นความเชื่อของราชวงศ์สจ๊วต ทั้งมวลที่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นจะเป็นผู้เลือกพระมหากษัตริย์ให้มาเป็นผู้ปกครอง และมีเพียงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะล้มล้างกษัตริย์ได้ 

และพระองค์ยังเชื่อต่อไปอีกว่าเพียงพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะกำหนดกฎหมายปกครองประเทศ ถ้าผู้ใดต่อต้านก็เท่ากับทำบาปที่ต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า และความเชื่ออีกอันหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ขึ้นไปอีกคือ ทรงเชื่อว่าอำนาจเผด็จการเท่านั้นคือรูปแบบของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ หมายความว่าสภาผู้แทนอย่ามายุ่ง

สิ่งนี่แหละที่ทำให้พระองค์ต้องขัดแย้งกับรัฐสภาอย่างยาวนานและรุนแรง ความเชื่อในเรื่องนี้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีปรากฏในจดหมายที่ยังหลงเหลืออยู่ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่เขียนว่า “ไม่ทรงไว้วางใจสภาที่ดื้อด้านแห่งนี้เลยและไม่สามารถที่จะยอมรับสภานี้ได้”

ด้วยความถือมั่นในตนเองและไม่ทรงประนีประนอม จึงทำให้การประชุมสภาในนัดแรกๆ ในตอนเริ่มต้นรัชกาลมีปัญหามาก บวกกับการที่พระองค์ไม่สามารถที่จะอดทนอธิบายชี้แจงให้สมาชิกสภาเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทำได้จึงนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคม, การเมือง และศาสนาภายในประเทศในเวลาต่อมา

มีการบันทึกว่าหลังจากการประชุมสภาในสามนัดแรกเมื่อตอนต้นรัชกาล ทั้งสภาและพระเจ้าชาร์ลส์ไม่สามารถที่จะหารือและตกลงกันได้ในประเด็นต่างๆ ในการประชุมนัดแรกก็ขัดแย้งกันในเรื่องการเก็บภาษี, ประชุมครั้งที่สองยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อพระองค์พยายามที่จะปกป้องคนสนิทคือดยุคแห่งบัคกิ่งแฮมให้พ้นผิด 

เมื่อสภาต้องการให้ลงโทษ พระเจ้าชาร์ลส์ก็สั่งให้ปิดการประชุมทันที และขณะนั้นอังกฤษก็ทำสงครามกับทั้งฝรั่งเศสและสเปนอีกด้วย พระเจ้าชาร์ลส์ทรงต้องการเงินมาอุดหนุนการสงครามของพระองค์ทรงให้บังคับให้มีการกู้ยืมเงินโดยใช้เครื่องเพชรพลอยของราชบัลลังค์ค้ำประกัน แต่ฝ่ายยุติธรรมเห็นว่าผิดกฎหมาย ท่านก็สั่งจับหัวหน้าผู้พิพากษา และสั่งจับอัศวินและขุนนางอีกกว่า 70 คนที่ไม่ยอมให้เงิน
เพื่อให้ท่านได้เข้าใจความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กับสภาชัดเจนขึ้น 

จะขอเล่าเพิ่มอีกในการประชุมสภาครั้งที่สี่นี้เป็นเรื่องราวกันใหญ่โตทีเดียว เพราะสภาเสนอที่จะ ‘จำกัด’ พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินโดยออกคำร้องที่เรียกว่า ข้อเรียกร้องสิทธิ์ the Petition of Right สี่อย่างคือ หนึ่ง. ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้โดยสภาไม่อนุมัติ, สอง. ไม่สามารถจองจำคนได้โดยไม่มีสาเหตุ, สาม.ไม่สามารถประกาศกฎอัยการศึกได้ในเวลาที่บ้านเมืองสงบและ  สี่. ไม่สามารถที่จะบังคับให้เจ้าของบ้านรับทหารเข้าไปพักอาศัยในบ้านได้โดยเจ้าของไม่ยอมรับ

ข้อเรียกร้องสิทธิ์ ทั้ง 4 นี้ พระเจ้าชาร์ลส์ ไม่ทรงเห็นด้วยกับสภาแต่จำใจต้องยอมรับ และในการประชุมสภาครั้งที่สี่ สภาก็ขัดแย้งกับการที่รื้อฟื้นหลักปฏิบัติของพระในโบสถ์และการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกของเจ้าหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินโดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา

เรื่องนี้พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงไม่เห็นด้วยกับสภาอย่างยิ่งทรงสั่งให้เลื่อนการประชุมออกไป แต่ก่อนที่จะปิดประชุมปรากฏว่า ประธานสภาถูกบังคับให้นั่งอยู่กับที่ และสภาได้อ่านประกาศผ่านญัตติประณามการกระทำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งทรงเห็นว่านั่นเป็นการปฏิวัติของสภา ดังนั้นในเวลา 11 ปีต่อมาพระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยการไม่เรียกประชุมสภาเลย

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าราชสำนักและสภาจะสามารถลืมเลือนและลงรอยกันได้ สงครามระหว่างราชสำนักและสภาสงบไประยะหนึ่ง แต่พระเจ้าชาร์ลส์ก็ไปเปิดศึกกับสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์ที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้พระเจ้าชาร์ลส์อีกต่อไป อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาเมื่อมีการเปิดประชุมสภาอีกพระเจ้าชาร์ลส์ทรงยอมอ่อนข้อต่อสภาลงบ้าง แต่ทว่าในการประชุมสภาในปลายปี ค.ศ. 1641 เป็นเรื่องใหญ่โตทีเดียวนะคะ เมื่อสภาเอาเรื่องกับพระเจ้าแผ่นดินด้วยการผ่านรายงานที่เรียกกันว่า Grand  Remonstance โดยเป็นรายงานที่เขียนถึงการกระทำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 นับแต่ขึ้นครองราชย์ที่สภาเห็นว่าไม่ถูกต้อง  การกระทำของสภาดังกล่าวในครั้งนี้เป็นการแตกหักระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์กับสภา และเป็นการมัดมือชกกับพระองค์ เพราะก่อนที่จะนำมาทูลให้ทรงทราบและยอมรับ ปรากฏว่าสภาได้ผ่านรายงานเรื่องนี้ก่อนที่จะเปิดการประชุมกับพระเจ้าชาร์ลส์เสียก่อนคือไม่สนใจว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เหตุการณ์นี้นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยึดเยื้อของอังกฤษในเวลาต่อมา

ขออธิบายเพิ่มตรงนี้อีกหน่อย ท่ามกลางความวุ่นวาย ก็ได้เกิดเหตุการณ์ คือในระหว่างการประชุมสภา ก็มีข่าวการกบฏของพวกไอร์แลนด์ สภาเห็นว่าจะต้องมีการเกณท์กำลังทหารเพื่อปราบกบฏกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันสภาก็กลัวว่าการเกณท์ทหารนี้พระเจ้าชาร์ลส์อาจจะใช้กำลังทหารนี้มาปราบสมาชิกสภาด้วย ก็เลยขอให้พระองค์ลงพระนามในร่างกฎหมายทหารอาสา ซึ่งเท่ากับเป็นการริดรอนพระราชอำนาจในการสั่งการของกองทัพ พระเจ้าชาร์ลส์จึงสั่งให้จับสมาชิกสภาขุนนางคนหนึ่งและสมาชิกสภาผู้แทนอีกห้าคนในข้อหากบฏและทรงนำกำลังทหารไปจับสมาชิกดังกล่าวด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นได้เสด็จออกจากลอนดอน ไปตั้งมั่นในทางเหนือของประเทศ

มีการเจรจาระหว่างราชสำนักและสภาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งกันอยู่ แต่ในที่สุดสงครามกลางเมืองของอังกฤษก็เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1642

พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงตั้งมั่นของกองทัพของพระองค์ในทางเหนือและตอนกลางของประเทศในการรบครั้งแรกๆกองทัพของพระองค์ที่สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินมีชัยเหนือพวกที่สนับสนุนสภา แต่เมื่อการรบมาถึงปีค.ศ. 1646 กองทัพของพระองค์ที่เมืองอ๊อกซฟอร์ดก็ยอมแพ้ต่อกองกำลังสภาที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวล และผู้บัญหาการทหาร เซอร์ โทมัส แฟร์เฟตท์ที่ทำการรบที่เข็มแข็งขึ้น พระเจ้าชาร์ลส์ทรงหนีด้วยการปลอมพระองค์ไปกับผู้ติดตามสองคนขึ้นสก็อตแลนด์ แต่ก็ถูกพวกสก็อตจับตัวส่งลงมาให้กองกำลังสภา
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงแสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดียวของพระองค์อย่างไม่มีเหตุผล ไม่ทรงยอมรับข้อเสนอของสภาที่จะให้พระองค์เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระหว่างถูกจับก็ทรงพยายามที่จะวางแผนเพื่อที่จะหาทางกลับมาปกครองประเทศ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ถูกกลุ่มนายทหารหนุ่มจับตัว ส่งกลับมายังลอนดอน

ส่อง ‘เงินเดือน’ ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ พร้อมสิทธิพิเศษการเข้าถึงงบอื่นๆ หลังปลดระวาง

ขณะที่ข่าวนายกรัฐมนตรีอังกฤษกำลังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับจ้องมองดู อาจมีใครที่ใคร่รู้ว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้นมีหน้าที่การงานอะไรบ้างและได้เงินเดือนมากน้อยเพียงใด

เริ่มต้นก่อนคือ ก่อนที่จะเข้ารับหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัวเขาจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินเสียก่อน ปัจจุบันคือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

เมื่อเข้ารับหน้าที่แล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ เขาจะต้องรับผิดชอบต่อนโยบายของรัฐบาลทั้งหมด รวมถึงการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในการบริหารประเทศด้วย

โดยนายกรัฐมนตรี สามารถแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ 22 คน ซึ่งในระบบของอังกฤษ รัฐมนตรีที่มีอาวุโสที่สุดจะเรียกว่า Cabinet Ministers, หรือ รัฐมนตรี ที่มีหน้าที่บริหารกระทรวงสำคัญที่ได้รับมอบหมาย เช่น กระทรวง 'การคลัง' หรือ 'มหาดไทย' ซึ่งตำแหน่งรัฐมนตรีนี้ นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ที่จะแต่งตั้งหรือปลดออกได้ หรือสามารถยุบกระทรวงและตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นได้ (อังกฤษจะมีการเปลี่ยนแปลงกระทรวงให้เหมาะสมกับความต้องการในการบริหารงานในด้านต่างๆ ของประเทศ)

นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะทำงานคู่ขนานกับรัฐมนตรีคลังในเรื่องภาษีและนโยบายงบประมาณของรัฐบาล รัฐบาลอังกฤษจะมีการแถลงนโยบายงบประมาณสองครั้งในรอบหนึ่งปี คือในฤดูใบไม้ร่วง (ตุลาคม) และฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม) และทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสามารถที่จะออกกฎหมายมาบังคับใช้ในประเทศได้โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทน

ไม่เพียงแต่นายกฯ จะควบคุมดูแลคณะรัฐมนตรีของตนแล้ว เขายังมีอำนาจและหน้าที่สั่งการข้าราชการในกระทรวงหรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องการป้องกันและความมั่นคงของประเทศ เช่น ตัดสินใจที่จะส่งกำลังทหารเข้าปฏิบัติการ แต่ประเด็นนี้เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการหารือกันว่าควรจะให้สภาเห็นด้วยไม่ใช่เพียงนายกฯ คนเดียวตัดสิน และมีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นไปได้

หน้าที่รับผิดชอบอื่นๆ ที่ยังตกอยู่บนบ่าของนายกรัฐมนตรีคือ ต้องตัดสินใจว่า จะยิงเครื่องบินที่ถูกจี้หรือเครื่องบินที่ไม่สามารถที่จะรู้ว่าเป็นของใครได้ และที่พูดถึงกันบ่อยๆ คือ สามารถสั่งการยิงอาวุธนิวเคลียได้อีกด้วย

และที่อังกฤษยังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอยู่จนถึงปัจจุบันคือ นายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าเฝ้าถวายรายงานต่อพระเจ้าแผ่นดินทุกสัปดาห์ในเรื่องการบริหาราชการงานเมืองของรัฐบาล หากแต่จะเป็นการพบส่วนตัวและไม่มีการจดบันทึกการหารือแต่อย่างใด

>> ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญ คือ แล้วนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้รับเงินเดือนเท่าไหร่?

ตามอัตราที่ปรากฏในปีพ.ศ. 2565 นี้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะได้เงินเดือนทั้งหมดปีละ 164,757 ปอนด์ โดยจะแบ่งออกเป็นสองยอด คือ ในฐานะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปีละ 84,144 ปอนด์ และในฐานะผู้แทนราษฎรอีก 79,936 ปอนด์ สามารถอยู่ในบ้านพักประจำตำแหน่งฟรี คือ 10 ถนนดาวน์นิ่ง ซึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษอาศัยอยู่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1735 (นายกฯ บางคนจะเปลี่ยนมาอยู่ในบ้านเลขที่ 11 ที่อยู่ติดกันแทน เพราะกว้างใหญ่กว่า)

นอกจากบ้านพักทางการในลอนดอนที่ถนนดาวน์นิ่งแล้ว นายกรัฐมนตรียังมีบ้านพักต่างอากาศของทางการในชนบทที่ชื่อ 'เชคเกอร์' Chequers ที่ตั้งอยู่ในเขต บัคกิ่งแฮมเชียร์อีกด้วย

ถ้าจะว่าไปแล้วเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อหารออกมาแล้วก็ตกเดือนละ 13,729 ปอนด์ ซึ่งดูจะน้อยกว่าผู้นำประเทศตะวันตกอื่นๆ พอสมควร เช่น ถ้าเป็นนายกฯ แคนาดาจะรับปีละ 200,000 ปอนด์ หรือนายกฯ เยอรมนี 280,000 ปอนด์ ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนี้ เงินเดือนสูงที่สุด ตกปีละ 300,000 ปอนด์ (จำนวนเงินจะปรับในแต่ละปี) ตามรายงานของ National world.com

นี่เป็นเงินเดือนขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี !!

ทว่า หลังจากหมดหน้าที่นายกฯ แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรียังสามารถได้รับเงินเดือนอีกปีละ 115,000 ปอนด์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในหน้าที่การงานในตำแหน่งพิเศษ แต่จะต้องเป็นงานเพื่อสาธารณะ และเงินนี้จะใช้เป็นค่าเช่าสำนักงาน เพื่อรับเรื่องหรือจ้างพนักงานทำงาน โดยเงินก้อนนี้อดีตนายกฯ สามารถเบิกใช้จ่ายได้ตามหน้าที่การงาน แต่ไม่ใช่นำมาใช้จ่ายส่วนตัว

ทำความรู้จัก ‘อักชตา มูรธี’ ภรรยานายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่

เมื่อสามีเป็นนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดและหนุ่มที่สุดของสหราชอาณาจักรอังกฤษหมาดๆ,นายริชชี่ ซูนัค, คนอาจใคร่รู้ว่า ภรรยาของเขาคือใคร

Akshata Murty  หรือ อักชตา (อัก-ชะ-ตา) มูรธี วัย ๔๒ เช่นเดียวกับสามีเธอ ทั้งคู่แต่งงานกันในปีพ.ศ. ๒๕๕๒ และมีบุตรสองคน เราอาจจะคิดว่าเธอเป็นแม่บ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่งแต่ถ้าเอ่ยชื่อเธอหรือบิดาของเธอในอินเดียแล้ว นั่นหมายถึงบิดาและบุตรสาวฐานะมหาเศรษฐีของอินเดีย

อักชตา ถือหุ้นในบริษัทอินโฟซี Infosys  ๐.๙ % หมายถึงมูลค่า ๗๐๐ ล้านปอนด์ที่เธอเป็นเจ้าของตามรายงานประจำปีล่าสุดของบริษัท นั่นยังไม่รวมทรัพย์สินอื่นที่เธอและสามีร่วมลงทุนอีกราว ๓๐ ล้านปอนด์

บิดาของอักชตาคือ นารายณ์ มูรธี ร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัททางด้านไอทีในอินเดียเมื่อราว ๓๐ ปีที่แล้วกับเพื่อนๆอีก ๖ คนด้วยเงินลงทุนที่ยืมมาจากภรรยาของเขาเพียง ๒๕๐ ดอลล่า ซึ่งเขายังรำลึกถึงบุญคุณของเธอจนปัจจุบัน

และปัจจุบัน Infosys มีสำนักงานใน ๕๐ ประเทศมีพนักงานกว่าหนึ่งแสนคนและมีรายได้หลายพันล้านดอลล่า

ฟังดูแล้วเราอาจจะคิดว่าอักชตา ภรรยาของริชชี่ สุนัคมีชีวิตที่แสนสะดวกสบายมาตั้งแต่ต้นซึ่งตรงกันข้ามกับเรื่องราวที่บิดาของเธอได้เล่าในเวลาต่อมาว่า

เมื่ออักชตาเกิดอีกในเมืองหนึ่งในเดือนเมษายนปี พ.ศ. ๒๕๒๓ แต่บิดาเธอมาทำงานอีกในเมืองหนึ่งกว่าเขาจะรู้ว่าภรรยาเขาให้กำเนิดบุตรสาวก็อาศัยข่าวจากเพื่อนที่รู้จักที่เดินทางมายังเมืองที่เขาอยู่เพราะเขาไม่มีโทรศัพท์ที่จะติดต่อกับครอบครัว อักชตาอายุได้เพียง ๒-๓ เดือนก็ต้องไปอยู่กับย่า เพราะพ่อและแม่ของเธอต้องไปทำงานที่มุมไบ และหนึ่งปีให้หลังพ่อของเธอก็ร่วมกับเพื่อนก่อตั้งบริษัทซอฟท์แวร์ซึ่งทำให้เขากลายเป็นบิล เกตส์แห่งอินเดียในเวลาต่อมา

บิดาของเธอเห็นความสำคัญของการศึกษาของลูก ๆ และเพื่อให้ลูกสนใจในการศึกษามากที่สุดภายในบ้านจึงไม่มีโทรทัศน์ เขาส่งอักชตาไปเรียนยังวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐด้านเศรษฐกิจและภาษาฝรั่งเศส และเธอยังได้ประกาศนียบัตรด้านแฟชั่นที่เธอสนใจอีกด้วย

เธอเริ่มอาชีพด้านการเงินที่บริษัท Deloitte และ ยูนิลีเวอร์ ต่อมาเธอเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดของสหรัฐ ที่ซึ่งเธอได้พบกับสามีคือริชชี่ ซูนัค

หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ตั้งบริษัทในปีพ.ศ. ๒๕๕๖ ในการที่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ อักชตา มีชื่อในธุรกิจหลายอย่างเช่น Digme fitness เครือบริษัทสถานออกกำลังที่จ่ายเป็นรายครั้งที่เข้าเล่น นอกจากนี้เธอยังมีชื่อเป็นผู้อำนวยการบริษัทขายเสื้อผ้าผู้ชายราคาแพงอีกด้วย

นอกจากเรื่องราวชีวิตที่ดูเหมือนเทพนิยายที่ครอบครัวสร้างฐานะร่ำรวยจนกลายเป็นมหาเศรษฐีของประเทศและล่าสุดสามีของเธอได้เป็นนายกรัฐมนตรีที่หนุ่มที่สุดของประเทศที่เรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจแห่งหนึ่ง เรื่องราวของอักชตาในขณะนี้ก็ยังไม่มีประเด็นที่จะถูกวิจารณ์มากนัก ยกเว้นเรื่องภาษีที่เธอถูกวิจารณ์ว่าน่าจะเสียให้กับประเทศที่ครอบครัวเธออาศัยอยู่บ้าง

เรื่องของเรื่องก็คือ อักชตา อยู่ในอังกฤษในฐานะ ที่เรียกกันว่า non-dom; non-domiciled individual หมายถึง ผู้อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา ซึ่งก็คือคนต่างชาติ(ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช้ประเทศภูมิลำเนาของตน) หรือพูดได้ว่าคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ได้ลงทะเบียนเสียภาษีในประเทศนั้น

5 ความท้าทาย พิสูจน์กึ๋นนายกฯ หนุ่ม 'ริชี ซูนัค' ภายใต้รัฐบาลใหม่ ความหวังใหม่ที่ประชาชนรอชม

"I will place economic stability and confidence at the heart of this government's agenda.
“เสถียรภาพและความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจคือหัวใจของนโยบายของรัฐบาลชุดนี้”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำปราศัยยาวหกนาทีของนายกรัฐมนตรีคนใหม่หมาด ๆ ของอังกฤษอย่าง นายริชี ซูนัค หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวท์นิ่ง ซึ่งจะเป็นที่พักของเขาหลังจากนี้

นายริชีแถลงต่อสื่อมวลชนหลังจากที่เข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในตอนเช้าของวันอังคารที่ 25 กันยายนที่มีรับสั่งให้เขาจัดตั้งรัฐบาล นายริชีรู้ดีว่าการล่มสลายภายใน 45 วันของรัฐบาลของนางลิซ ทรัสส์มาจากอะไร เขาจึงบอกกับคนอังกฤษว่า รัฐบาลของเขาจะมีความซื่อสัตย์, เป็นมืออาชีพและรับผิดชอบในทุกระดับ และชาวอังกฤษจะได้รับความเชื่อมั่นนี้

พร้อมกันนี้นายริชียังให้คำมั่นสัญญาต่อไปว่า การบริการทางสาธารณะสุขจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น, โรงเรียนจะดีกว่าเดิม, ถนนหนทางจะปลอดภัย, การควบคุมชายแดนของประเทศจะรัดกุมยิ่งขึ้น, คุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อม, ให้การสนับสนุนกองทัพ,ยกระดับและเสริมสร้างเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิดโอกาสของการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อันจะนำไปสู่การลงทุนทางธุรกิจ, การคิดค้นสิ่งใหม่และการสร้างงาน

สิ่งที่นายริชีกล่าวมา ตามภาษาอังกฤษที่ว่า it’s too good to be true มันดูจะดีเกินจริงไปหน่อยมั้ย ซึ่งเขาก็ดูจะรู้ดี จึงย้ำว่า...

"ข้าพเจ้ายืนอยู่ต่อหน้าท่านขณะนี้และพร้อมที่จะนำประเทศของเราไปสู่อนาคต จะทำให้ความต้องการของท่าน (ให้ความสำคัญของประชาชน) อยู่เหนือการเมือง, และสร้างรัฐบาลที่แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพพรรคการเมืองดังเช่นพรรคของข้าพเจ้า"

"So I stand here before you, ready to lead our country into the future, to put your needs above politics, to reach out and build a government that represents the very best traditions of my party.”

นี่ถือเป็นคำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรีหนุ่มวัย 42 ปีเชื้อสายอินเดียต่อประเทศที่เขาบอกว่ามีบุญคุณที่ต้องตอบแทน

ว่าแต่รัฐบาลของนายริชีจะมีหน้าตาอย่างไร?

บีบีซีภาษาอังกฤษได้รวบรวมมาให้ดู ซึ่งก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก นายเจเรมี่ ฮันท์ยังคงเป็นรมต.คลังต่อไป, นายโดมินิค ลัปป์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมต.ยุติธรรม, นางซูเอลล่า บลาเวอแมน กลับมาเป็นรมต. มหาดไทย หลังจากประกาศลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเธอยอมรับผิดว่าใช้อีเมล์ส่วนตัวส่งเอกสารราชการให้คนรู้จัก ข่าวบอกว่าเธออาจเป็นเป้าของพรรคฝ่ายค้านที่จะโจมตีรัฐบาล, รมต.ต่างประเทศ และ รมต.กลาโหมคนเดิมไม่เปลี่ยน เช่นเดียวกับนางเพนนี มอร์ด้อนน์ ผู้ที่ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับนายริชชี่ แต่ต้องถอนตัวออกเพราะคะแนนเสียงไม่พอ เธอยังคงได้ตำแหน่งประธานสภาสามัญเช่นเดิม 

แต่มีตำแหน่งหนึ่งที่คนค่อนข้างแปลกใจคือ นายไมเคิล โกรฟ  Michael Gove กลับมาเป็นรมต. ที่เรียกว่า The Levelling Up Secretary โดยตำแหน่งนี้ พรรคคอนเซอร์เวทีฟตั้งขึ้นมาไม่นานนักและนายโกรฟ เคยเป็นมาก่อนและถูกนายบอริส จอนห์สันไล่ออกเพราะความขัดแย้งที่นายโกรฟขอให้นายบอริสลาออกหลังจากความผิดพลาดหลายอย่าง ซึ่งหน้าที่ของ รมต.นี้ คือ ทำหน้าที่ที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนในประเทศ

เหล่านี้ ก็เป็นไปตามกฎที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีได้ 22 คน

อย่างไรเสีย พรรคเลเบอร์ก็วิจารณ์คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ว่าส่วนใหญ่ก็หน้าเดิมๆ ที่หน้าเดิมนี้อาจตีความหมายได้ว่า นายริชีต้องการประนีประนอมภายในพรรคให้เกิดความสามัคคี แต่รมต.ที่จะทำให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัยก็คือ นายเจเนมี่ ฮันต์ ผู้ที่จะต้องเสนอแผนงบประมาณชุดเล็ก Mini-budget ต่อสภาในวันที่ 31 ต.ค. นี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top